วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์บทบาทและอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์


"วรรณกรรม" กระจกเงาสะท้อนสังคม


                         
                     ความเป็นจริงในวรรณกรรมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติหรือของไทยเองก็ตาม อย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพทางสังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนคุณค่าต่างๆของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เราได้เห็นจากคนอ่านและคนเขียน และวรรณกรรมยังเป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้เราเห็นความจริงจังของคนในชาติ หรือความฟุ้งเฟ้อของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งก็แล้วแต่ว่ากลุ่มคนสังคมใดจะใช้กระจกเงาบานไหนออกมาฉาย   ดังนั้นท่าทีและแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนย่อมมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกัน และขึ้นอยู่กับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมว่าจะทำวรรณกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง 
                      วรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นที่เก็บรวบรวมความคิด ความเป็นอยู่ และลักษณะสภาพต่างๆของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไว้ด้วยกัน สังคมของผู้แต่งหนังสือมีธรรมชาติอย่างไร วรรณกรรมก็มีธรรมชาติอย่างนั้น สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปตามเหตุการณ์อย่างไร วรรณกรรมก็บอกถึงเหตุการณ์นั้น เช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ มีผลทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมประพฤติปฏิบัติตนต่างกัน หรือบางครั้งก็ออกมาในรูปเดียวกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน บางครั้งก็กลมกลืนกัน ผู้แต่งหนังสือที่ช่างสังเกตก็จะเลือกหาเหตุการณ์เรื่องราวจากความเป็นไปในสังคมมาผูกเป็นเรื่องขึ้น โดยตั้งจุดประสงค์ไว้ต่างๆกัน บางคนผูกเรื่องขึ้นเพื่อรายงานเหตุการณ์แต่เพียงอย่างเดียว บางคนก็ชี้ให้เห็นลักษณะที่ขัดแย้งต่างๆเพื่อเตือนสติคนในสังคม

                    วรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนของสังคม ซึ่งการสะท้อนสังคมของวรรณกรรมไม่ใช่เป็นการสะท้อนอย่างบันทึกเหตุการณ์เหมือนเอกสารประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของผู้เขียนและเหตุการณ์หนึ่งของสังคม วรรณกรรมจึงมีความเป็นจริงทางสังคมสอดแทรกอยู่ นักเขียนบางคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เขาจะสะท้อนความต้องการที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น วรรณกรรมของเขาชี้ให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นอุดมการณ์ทางสังคมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้
 
                  ดังนั้นอิทธิพลของวรรณกรรมต่อสังคม อาจเป็นได้ทั้งในด้านอิทธิพลภายนอก เช่น การแต่งกาย หรือการกระทำตามอย่างวรรณกรรม เช่น หญิงไทยสมัยหนึ่งนิยมถักหางเปีย นุ่งกางเกงขาสั้นเหมือน " พจมาน " ในเรื่องบ้านทรายทอง หรือย้อมผมสีแดงเหมือน " จอย " ในเรื่องสลักจิต เป็นต้น และอิทธิพลทางความคิด การสร้างค่านิยม รวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ดังเช่น หนังสือเรื่อง " The Social Contract " ของจัง จาคส์
รุสโซ ( Jean Jacques Rousseau ) พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1762 เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เรียกว่า 
" เจตนารมณ์ทั่วไป ( General Will ) " เน้นเรื่องเสรีภาพและสิทธิของมนุษยชาติ ก็คืออำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญยิ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีส่วนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียกร้องอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 - 1792 และอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องทฤษฏีสัญญาประชาคม ( Social Contract Theory ) ซึ่งมีนักวิชาการได้นำมาอ้างอิงอยู่เสมอ หลังจากนั้นก็มีวรรณกรรมอีกหลายเล่ม ได้อิทธิพลและสนับสนุนการปกครองตามแนวคิดของรุสโซ เช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ ( John Stuart Mill ) นักเศรษฐศาสตร์และนักคิดชาวอังกฤษ ได้เขียนหนังสือ เรื่อง o­n Liberty โดยเน้นว่ารัฐบาลที่ดีต้องให้เสรีภาพแก่ประชาชน



                  ตัวอย่างวรรณกรรมไทยที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยของเราอย่างมากในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ วรรณกรรมเรื่อง สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเนื้อหาสาระของวรรณกรรมเรื่อง "สี่แผ่นดิน" นี้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์กษัตริยนิยมที่ต้องการชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีคุณค่าและคุณูปการต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือแม้กระทั่งหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วก็ตาม สี่แผ่นดินดูจะช่วยเสริมแรงให้กับฝ่ายกษัตริยนิยมที่พยายามช่วงชิงอำนาจกับรัฐบาล และยังมีส่วนในการปูพื้นฐานทางวาทกรรมให้กับผู้มีอำนาจในยุคต่อมา ซึ่งเป็นการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลต่อการเมืองและสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังได้มีการนำวรรณกรรมเรื่อง "สี่แผ่นดิน" นี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที ในหลากหลายรูปแบบตามแต่ยุคสมัยมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงความรัก และความหวงแหนของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีแต่ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเราเสมอมา และยังเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นหลังอย่างเรานั้นได้รู้ซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของเราทุกๆพระองค์ ที่ได้ทรงปกปักรักษาประเทศชาติบ้านเมืองมาเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยของเรามีเอกราชเป็นของตนเอง ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด ดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งชาติสืบไป และถึงแม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองบางเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เพิ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นนี้อาจจะมีส่วนทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเรานั้นสั่นคลอน แต่เราก็เชื่อว่าพลังเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยอย่างเรานั้นจะสามารถปกป้อง และคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราให้ดำรงอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยของเราไปได้ตลอดกาลตราบนานเท่านาน
                             ซึ่งจากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดนี้ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าวรรณกรรมนั้นมีอิทธิพลและผลกระทบต่อสังคมของเราอย่างมากมายเพียงใด วรรณกรรมสามารถเปลี่ยนแนวความคิด และอุดมการณ์ของเราได้อย่างสิ้นเชิงด้วยค่านิยมต่างๆที่มีอิทธิพลต่อสังคมของเรา อีกทั้งยังสามารถสร้างพลังอันแข็งแกร่งให้กับเราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางความคิดของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคมได้อีกด้วย  ดังนั้นการอ่านวรรณกรรมจึงอาจเป็นเหมือนกับดาบสองคม หากเราปล่อยให้อิทธิพลของวรรณกรรมเข้ามามีส่วนครอบงำความคิด และจิตใจของเรามากจนเกินไป เราอาจไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นที่เขาไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเราด้วยก็เป็นได้  และสิ่งนั้นนั่นแหละอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองในที่สุด เพราะฉะนั้นวรรณกรรมจะส่งผลที่ดีต่อสังคมได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคมรู้จักที่จะนำเอาเรื่องราวและความคิดที่ดีๆที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมนั้นๆมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สังคมของเราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขตลอดไป สรุปแล้วคืออิทธิพลของวรรณกรรมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนประเทศชาติ และโลกของเราอีกด้วย วรรณกรรมจึงผูกพันกับสังคมอย่างแนบแน่น และมีบทบาทที่สำคัญในการชี้นำแนวทางให้กับคนในสังคมตลอดมา

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทวิเคราะ์ห์เกี่ยวกับ "วรรณกรรม" ที่น่าสนใจค่ะ เพราะส่วนใหญ่คนมักมองว่าวรรณกรรม จะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และประเพณี ของชุมชนและสังคม มากกว่าในประเด็นนี้

    ตอบลบ